สามปิฎก ชวนอ่านพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกฉบับกระเป๋า
หน้าหลัก ชวนอ่านพระไตรปิฎก อายุมากแล้ว จะอ่านพระไตรปิฎกได้ไหม

อายุมากแล้ว จะอ่านพระไตรปิฎกได้ไหม

โดย: สามปิฎก ชวนชาวพุทธอ่านพระไตรปิฎก 15 กุมภาพันธ์ 2555 เปิดอ่าน: 8492
อายุมากแล้ว จะอ่านพระไตรปิฎกได้ไหม

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีสตรีผู้อาวุโสท่านหนึ่งถามมา บอกว่าตัวเองอายุจะ 60 แล้ว จะอ่านพระไตรปิฎกได้หรือไม่

จริง ๆ การอ่านพระไตรปิฎกนั้นไม่จำกัดวัย หากอ่านหนังสือภาษาไทยได้แล้ว ใครก็สามารถอ่านได้ เพียงแต่ต้องดูสภาพร่างกายและสายตาตัวเองก่อน

บางคนอายุมาก 80 ปี แต่สายตายังดี สามารถอ่านหนังสือได้สบาย แต่บางคนหากสายตาไม่ดี แม้ตัดแว่นใส่แล้วก็ยังไม่ดีพอ ยังพร่า ๆ มัว ๆ อยู่ ก็แนะนำว่า อย่าฝืนอ่านเลย จะทำให้เสียสุขภาพเปล่า ๆ

บางคนก็ถามว่า พระไตรปิฏกมีตั้ง 30-40 กว่าเล่ม ตัวเองอายุมากแล้วจะอ่านจบเหรอ ก็ขอบอกว่า อย่ากังวลเรื่องอ่านจบไม่จบ เอาเป็นว่า ให้อ่านเรื่องใดก็ได้ เล่มไหนก็ได้ อ่านแล้วเข้าใจเรื่องที่อ่านและอ่านแล้วทำให้จิตใจตัวเองสงบ สำรวมกาย วาจาได้ดี จิตใจไม่พลุกพล่านร้อนรน นั่นคือสุดยอดของการอ่านแล้ว บางทีการอ่านพระไตรปิฎกแค่ 4-5 หน้าแต่ใจท่านสงบ ใจเบา ไม่ทุกข์ร้อน นั่นอาจมีประโยชน์มากกว่าอ่านพระไตรปิฎกเยอะแยะมากฉบับก็ได้ 

ทำอย่างไร สายตาไม่ดี แต่อยากอ่านพระไตรปิฎก

จริง ๆ ทุกวันนี้มีทางเลือก แม้สายตาไม่ดี แต่หากหูท่านยังฟังเสียงได้ดี ก็มีพระไตรปิฎกเสียง เช่นฉบับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ก็มีผู้นำไปอ่านบันทึกเสียงไว้ เลือกเปิดอ่านเป็นเล่ม ๆ ได้เช่นกัน ลองสืบหาข้อมูลดู (หากท่านหาไม่ได้จริง ๆก็ติดต่อมา ทางโครงการเราจะหาวิธีทำให้ท่านได้ฟังแบบง่าย ๆ)

เริ่มต้นอ่านพระไตรปิฎก

สำหรับคนโดยทั่วไป ถ้าท่านไม่ค่อยได้อ่านหนังสือธรรมะ ไม่ค่อยได้อ่านหนังสือทางพระศาสนามาก่อน ถ้าจะเริ่มอ่านพระไตรปิฎก แนะนำว่า ให้ท่านอ่านพระสุตตันตปิฏก (พระสูตร) ก่อนจะง่ายกว่า เพราะพระสูตรจะมีทั้งเรื่องราว มีเหตุการณ์ มีนิทาน มีเรื่องเล่า มีหลักธรรมะต่าง ๆ ประกอบกัน อ่านได้ง่ายกว่า

ส่วนพระวินัย จะเป็นเรื่องกฎระเบียบหรือกฏหมายของพระสงฆ์ ซึ่งฆราวาสทั่วไทยบางทีอาจไม่จำเป็นต้องรู้มากนัก เว้นแต่ท่านต้องการจะบวชหรือสำหรับท่านที่อยากรู้จริง ๆ  ค่อยอ่านเป็นลำดับถัดไป

สำหรับพระอภิธรรม จะเป็นคำสอนที่แสดงแต่ธรรมะล้วน ๆ เป็นเรื่องปรมัตถ์ ไม่มีเรื่องราว นิทาน หรือบุคคลประกอบ บางท่านอาจยากหรือหนักเกินไป ถ้าท่านสนใจจริง ๆ อาจหาหนังสือที่อธิบายพระอภิธรรมมาอ่านก่อนก็จะดี เพราะจะทำให้เข้าใจพระอภิธรรมง่ายขึ้น เช่น หนังสืออภิธัมมัตถะสังคหะ (มีที่อภิธรรมโชติกะวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วัดมหาธาตุฯ ท่าพระจันทร์, โรงเรียนอภิธรรม วัดระฆังโฆสิตาราม,โรงเรียนอภิธรรม วัดศรีสุดาราม บางกอกน้อย, มูลนิธิแนบ มหาวีรานนท์ และที่อื่น ๆ ที่มีการบรรยายพระอภิธรรม)

อภิธรรมเป็นอย่างไร อภิธรรมคือองค์ความรู้ที่อธิบายความจริงของสรรพสิ่งต่าง ๆ ท่านแยกออกเป็น 2 ชนิดใหญ่ ๆ คือความจริงของสิ่งที่เป็นรูป กับ ความจริงของสิ่งที่ไร้รูปหรือสิ่งที่มีแต่ชื่อ(นาม)

จริง ๆ เราคุ้นเคยอภิธรรมกันดีอยู่แล้ว เช่น เวลาเราไปงานศพทุกงาน พระท่านจะสวดมาติกา  กุสลา ธัมมา อกุสลา ธัมมา อัพยากตา ธัมมา ฯลฯ หรือสวดพระอภิธรรม 7 คัมภีร์ (กุสลา ว่าด้วย สภาพธรรม 3 ชนิด, ปัญจักขันธา ว่าด้วยขันธ์ 5 ฯ, สังคโห ว่าด้วยการสังเคราะห์ธรรมฯ, ฉปัญญัตติ ว่าด้วยสมมุติบัญญัติ 6 ฯ, ปุคคโล ว่าด้วยเรื่องสัตว์ บุคคลฯ, เยเกจิ ว่าด้วยการจัดหมวดหมู่ธรรมฯ  อีกแบบ, เหตุปัจจะโย ว่าด้วยเหตุ และปัจจัยที่ทำให้เกิดมีสิ่งต่าง ๆ ฯ) ซึ่งเวลาเราไปงานศพ หากเราสามารถเข้าใจสิ่งที่พระท่านกำลังสวด จะมีอานิสงส์มาก

ถ้าพูดแบบปัจจุบัน อภิธรรมจะคล้ายกับวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ คล้ายฟิสิกส์

ถ้าเราเริ่มอ่านพระไตรปิฏกในหมวดอภิธรรม บางทีเราอาจไม่รู้อะไรเลยและอาจคิดว่า พระไตรปิฎก อ่านเข้าใจยาก จะพาลให้ท้อได้ สำหรับท่านที่สนใจอภิธรรมอย่างจริงจัง แนะนำว่าลองไปนั่งฟังการบรรยายอภิธรรมตามสถานที่ต่าง ๆ ที่ท่านจัดสอนจัดบรรยายดูก่อน ให้ได้พื้นพอสมควร แล้วมาอ่านพระไตรปิฎกก็จะทำให้เข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น

ข้อดีของการเข้าใจอภิธรรม คือ ทำให้เราปล่อยวางในสิ่งต่าง ๆ ที่ยึดติดได้ง่าย มีความมั่นใจสูง ไม่ถือเนื้ออวดตัว และหากมุ่งสู่การปฏิบัติก็ก้าวหน้าเร็ว เนื่องจากมีพื้นความรู้ทางปรมัตถ์ที่ดีอยู่แล้ว

ในการเรียนการสอนอภิธรรมของสถานที่ต่าง ๆ นั้น การอธิบายอภิธรรมมักหลีกเลี่ยงคำศัพท์ที่เป็นภาษาบาลีไม่ได้ ซึ่งมันจำเป็น หลีกเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ หลาย ๆ คนจึงรู้สึกว่า เรียนเข้าใจยาก (เพราะตัวเองมีพื้นความรู้บาลีน้อย) แต่สำหรับคนที่เรียนภาษาบาลีมาบ้าง จะเรียนอภิธรรมได้สนุกและเข้าใจรวดเร็วกว่า

สำหรับผู้สนใจเรียนบาลี ปัจจุบันมีที่สอนบาลีสำหรับฆราวาสอยู่หลายแห่ง ที่กำลังมีชื่อเสียงและได้รับความนิยมคือ มหาบาลีวิชชาลัย ลองไปสมัครเรียนที่มหาบาลีวิชชาลัย สถาบันสอนภาษาบาลีสำหรับบุคคลทั่วไป วัดโมลีโลกยาราม เขตบางกอกใหญ่ กทม. ก็ได้ เปิดรับบุคคลทั่วไปเข้าเรียนฟรี เปิดสอนหลายหลักสูตร มีเรียนทั้งวันเสาร์และวันอาทิตย์
คลิกดูรายละเอียด ที่ www.mahapali.com 

แชร์: