โดย:
สามปิฎก ชวนชาวพุทธอ่านพระไตรปิฎก
23 กุมภาพันธ์ 2559
เปิดอ่าน: 2,354
โครงการสงฆ์เข้มแข็ง สู่ทศวรรษใหม่ คณะสงฆ์ภาค...
(Strong Sangha Project 2017-2027)
สังเขปโครงการและกิจกรรมเพื่อพัฒนาคณะสงฆ์ภาค... สู่ความเป็นองค์กรสงฆ์เข้มแข็ง ในทศวรรษ 2560-2570
-----------------------------------
สังคมปัจจุบันมีความสลับซับซ้อนสูง ปรับเปลี่ยนผันแปรไปอย่างรวดเร็ว บุคคลธรรมดา ๆ จากครัวเรือนในหมู่บ้านเล็ก ๆ จนถึงบุคคลในชุมชนเมืองขนาดใหญ่ระดับมหานคร สามารถติดต่อสื่อสารเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันได้ทั่วโลก ผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบอินเตอร์เนต และเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และด้วยระบบอินเตอร์เนต เครือข่ายสังคมออนไลน์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่เหล่านี้ ทำให้แต่ละบุคคลในสังคมสามารถเป็นทั้งผู้ผลิตข่าวสาร ผู้รับข่าวสาร และเป็นผู้กระจายข่าวสารจากบุคคลอื่น ๆ ได้ด้วยในเวลาเดียวกัน การติดต่อสื่อสารและสัมพันธ์กันของคนในสังคม นอกจากทำให้ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร ได้เสพข้อมูล ภาพและเสียงของเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลก ได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็น แสดงอารมณ์ แสดงความรู้สึกต่าง ๆ ต่อข้อมูล ภาพและเสียงดังกล่าวแล้ว ความก้าวหน้าทางการสื่อสารเหล่านี้ก็เป็นเหตุให้เกิดปัญหาระหว่างกันได้ ง่าย เช่น การกระจายข้อมูลภาพเสียงที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง การล่อลวง อาชญากรรม การทะเลาะวิวาท รวมถึงการประพฤติวจีทุจริตหมู่ของคนในสังคม เป็นต้น ปัญหาเหล่านี้มีปรากฏอยู่ทั่วไปทั้งระดับบุคคล ระดับชุมชนหมู่บ้าน ระดับประเทศและระดับโลก ซึ่งจำเป็นต้องมีการตระหนัก มองปัญหา ทำความเข้าใจปัญหาและร่วมรับผิดชอบแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ และหาทางป้องกันปัญหาใหม่ ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตด้วยกัน
กล่าวสำหรับคณะสงฆ์ แม้ว่าจะมีอุดมการณ์และวิถีชีวิตที่ต่างออกไปจากสังคมชาวบ้านโดยปกติทั่วไป แต่พระภิกษุสามเณรผู้เป็นบุคลากรในคณะสงฆ์ก็ล้วนมาจากสังคมคือมาจากชาวบ้านปกติทั่วไปนั่นเอง คณะสงฆ์มีความเกี่ยวข้องปฏิสัมพันธ์กับสังคมแทบจะทุกระดับและทุกมิติในชีวิตประจำวัน คณะสงฆ์ไม่สามารถจะอยู่โดดเดี่ยวลำพังหรือทำตัวไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับความเป็นไปของสังคมได้ คณะสงฆ์จึงจำเป็นต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสังคมและต้องเกี่ยวข้องอย่างเหมาะสมและสร้างสรรค์ตามกรอบพระธรรมวินัยอันเคร่งครัด กล่าวคือเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสังคมได้โดยไม่สูญเสียความเป็นสงฆ์ หรือถูกกลืนกลายรูปแบบและวิถีสงฆ์ไปเป็นฆราวาส สรุปคือคณะสงฆ์สามารถเกี่ยวข้องกับสังคมได้ในด้านการให้สติ สร้างปัญญา แนะนำหลักการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องดีงามต่อสังคมเท่านั้น
คณะสงฆ์จะเกี่ยวข้องกับสังคมและทำงานร่วมสร้างสรรค์สังคมได้ จำเป็นต้องมีการจัดเตรียมองค์กร พัฒนาองค์กร พัฒนาบุคลากรสงฆ์ วิเคราะห์สถานการณ์ความเป็นไปของสังคม มีการวางแผนและกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนเป็นอย่างดี อีกทั้งในการทำงานทุกขั้นตอน ต้องมีข้อมูลที่ชัดเจน ถูกต้องและแม่นยำ งานร่วมสร้างสรรค์สังคมจึงจะมีประสิทธิภาพ คณะสงฆ์จะทำงานในลักษณะดังกล่าวนี้ได้ คณะสงฆ์จำเป็นต้องพัฒนาตนเองให้มีลักษณะเป็น
สงฆ์เข้มแข็ง
สงฆ์เข้มแข็ง (Strong Sangha) หมายถึง องค์กรบริหารกิจการพระพุทธศาสนาที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ กล่าวคือเป็นองค์กรที่
1. มีความเข้มแข็งในการศึกษาพระธรรมวินัย
2. มีความเข้มแข็งในการรักษาพระธรรมวินัย
3. มีความเข้มแข็งในการให้การศึกษาพระธรรมวินัยแก่ชนทุกเหล่า
4. มีความเข้มแข็งในการจัดการทรัพยากร/สิ่งแวดล้อม/ศาสนสถาน/ศาสนิก
5. มีความเข้มแข็งในการสร้างและรักษาศรัทธาชาวบ้าน
สงฆ์เข้มแข็งในทศวรรษ 2560-2570 มุ่งไปที่สงฆ์ระดับภาคของประเทศไทย กล่าวคือคณะสงฆ์ภาค ที่เป็นการแบ่งการบริหารงานคณะสงฆ์รวมจังหวัดต่าง ๆ 3-6 จังหวัดที่มีพื้นที่ใกล้เคียงกันรวมเป็นภาคสงฆ์หนึ่ง ๆ การแบ่งเป็นภาคสงฆ์นี้มีความน่าสนใจไม่น้อย คือในส่วนของพื้นที่ ถือว่าไม่กว้างหรือแคบเกินไป และในส่วนประชากรสงฆ์ 6,000-30,000 รูป และประชาชนในกลุ่มจังหวัดของภาค 1-6 ล้านคน ถือว่าไม่มากหรือน้อยเกินไปเช่นกัน ถ้าออกแบบระบบองค์กรบริหารสงฆ์ภาคได้ดี ก็เหมือนมีเครื่องจักรชั้นดีทำงานให้กับพระพุทธศาสนา กระจายอยู่ทั่วประเทศ แม้สงฆ์ส่วนกลางจะมีปัญหา มีข้อติดขัด หรืออ่อนแออย่างไร สงฆ์ภาคก็ยังเข้มแข็งและขับเคลื่อนกิจการพระศาสนาไปได้ดี นี่คือสิ่งที่ต้องเน้นเป็นจุดสำคัญในการพัฒนากิจการพระพุทธศาสนาสมัยใหม่
อันที่จริง สงฆ์ภาคต้องมีอิสระ มีอำนาจและความคล่องตัวพอสมควร จึงจะทำงานได้ดี โดยเป้าหมายในทศวรรษที่ 2 คือในช่วง พ.ศ. 2571-2580 ของสงฆ์เข้มแข็งแล้ว สงฆ์ภาคต้องมีสภาพเสมือนหนึ่งเป็นนิติบุคคลอิสระต่างหากจากส่วนกลางคือเป็นเหมือนรัฐ ๆ หนึ่งจากสงฆ์ส่วนกลาง อย่างไรก็ตาม ในระยะเริ่มต้นที่ประเทศไทยยังไม่ปรับปรุง พรบ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 (แก้ไข 2535) หากคณะสงฆ์ภาคมีความมุ่งมั่นจริงจังในก้าวไปสู่ความเป็นสงฆ์เข้มแข็ง ก็สามารถขับเคลื่อนไปได้ แม้จะอยู่ภายใต้กฎหมายหรือระเบียบที่มีข้อจำกัด แต่ในทางปฏิบัติจริง สามารถปรับแนวทางการทำงานได้ โดยความสามัคคีและความมุ่งมั่นของเจ้าคณะภาค รองเจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล และเจ้าอาวาสในภาคสงฆ์นั้น ๆ นั่นเอง
เจ้าคณะและเจ้าอาวาสต่าง ๆ เหล่านี้ (ในภาคสงฆ์ ประมาณ 600-3,000 รูป) นั่งประชุมร่วมกัน วางแผนทำงานร่วมกัน ประเมินการทำงานร่วมกัน เป็นสภาสงฆ์ภาคที่ลดทอนบรรยากาศเจ้านายสั่ง-ลูกน้องทำตาม คือลดแนวคิดจากบนสู่ล่างและล่างขึ้นบน ปรับแนวการทำงานมาเป็นระนาบกว้าง คือ ทุกท่านนั่งทำงานเป็นคณะเดียวกัน ร่วมรับผิดชอบความเป็นไปของกิจการพระศาสนาในภาคสงฆ์ตนเองร่วมกันทุกขั้นตอน (แต่ในการลงนามเอกสารในช่วงต้นนี้ จำต้องทำตามระเบียบ ประกาศ คำสั่ง กฎหมายคณะสงฆ์ที่มีในปัจจุบันอยู่)
คณะสงฆ์ภาค... มีความมุ่งหมายอย่างสำคัญในการเป็นองค์กรสงฆ์ที่เข้มแข็ง เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการทำงาน และยกระดับการทำงานของคณะสงฆ์สมัยใหม่ในทุกด้าน เพื่อตอบสนองต่อสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสลับซับซ้อนและรวดเร็ว เพื่อให้เป็นองค์กรสงฆ์ที่เข้มแข็ง จึงได้กำหนดแผนที่จะพัฒนาและดำเนินงานโครงการและกิจกรรมต่างๆ ดังต่อไปนี้ขึ้น ซึ่งจะนำไปประกอบเป็นส่วนแกนหลักของแผนแม่บทของคณะสงฆ์ภาค... ในระยะ 10 ปีต่อไปข้างหน้า (พ.ศ. 2560-2570)